29 กันยายน 2559

‘วีระยุทธ โชคชัยมาดล’ ชีวิตเปลี่ยนเพราะ ‘ดร.อาทิตย์’

เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1267 ประจำวันที่ 9 กันยายน 2559

รายงานพิเศษ
พิมพ์นารา ประดับวิทย์ : เรื่อง / อัฐพนธ์ แดงเลิศ : ภาพ

วีระยุทธ โชคชัยมาดลชีวิตเปลี่ยนเพราะ ดร.อาทิตย์


"ผมได้รู้จักกับ ดอกเตอร์อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งแต่ท่านเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ท่านเคยชักชวนให้ผมมาทำงานที่ ม.รังสิต ซึ่งในตอนนั้น ม.รังสิตก็มีวิกฤตการณ์ทางการเมือง และทางมหาวิทยาลัยอยากจะมีสื่อของตัวเอง ตอนนั้นผมไม่รู้อะไรเลย รู้แต่ว่าดอกเตอร์อาทิตย์ชวนมาทำงานด้วย และผมต้องมา"

นี่คือความทรงจำที่ ดร.หนุ่มไฟแรง วีระยุทธ โชคชัยมาดล ผอ.สถานีโทรทัศน์ อาร์เอสยู วิสดอม ทีวี มีต่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ คนที่ทำให้เขามีวันนี้ได้

ดร.วีระยุทธ เล่าประวัติการศึกษาให้ฟังว่า เรียนมัธยมที่สวนกุหลาบวิทยาลัย ตั้งแต่ ม.1-ม.6, ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาอังกฤษ) ม.ขอนแก่น, ปริญญาโท MA International Relations, University of East Anglia, UK สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปริญญาเอก รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต ม.รังสิต

ช่วงเรียนจบ ป.โทกลับมา ครอบครัวซึ่งทำธุรกิจมีปัญหาจนเลิกทำธุรกิจ ส่วนตนเริ่มต้นด้วยการทำงานที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นอาจารย์ฝ่ายกิจการต่างประเทศ เกี่ยวกับเอกสารภาษาอังกฤษเป็นแอดมินให้กับอธิการบดีในสมัยนั้น และสอนวิชารัฐศาสตร์ด้วย อยู่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 3 ปี รู้สึกยังไม่ท้าทาย แล้วเบื่อนักศึกษาด้วย บางทีนักศึกษารุ่นใหม่กับเรา คิดคนละแบบ จึงลาออก

ต่อมาสมัครเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ The Nation ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็รู้สึกว่าสนุกมากกับงานการเมือง ได้คุยกับนักการเมืองทุกวัน แต่อยู่ที่ The Nation 6 ปี ก็รู้สึกว่าอยากไปอีกสเต็ปหนึ่ง ซึ่งความจริงอยู่ในแผนที่วางไว้อยู่แล้ว คือกลับมาทำงานด้านวิชาการ ประกอบกับ The Nation มีวิกฤติในองค์กร แล้วก็เป็นช่วงเดียวกันกับ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ชวนไปทำงานด้วย

ช่วงนั้น ม.รังสิต ได้ตั้งศูนย์ข่าว อาร์เอสยูนิวส์ ขึ้น (ปี 2555) ตอนนั้นตนก็นึกไม่ออกเพราะงบประมาณน้อยมาก ต้องปรับตัวเยอะ เพราะจะเป็นศูนย์ข่าววิชาการตรงๆ ก็ไม่ใช่ จะเป็นสื่อมวลชนก็ไม่เชิง แต่อีกส่วนก็ทำงานให้ ดร.อาทิตย์ด้วย คือ เป็นผู้ช่วยทางการเมือง เป็นมือไม้ทางวิชาการ เช่น ช่วยเขียนบทความ เขียนนโยบาย เขียนสุนทรพจน์

วันหนึ่ง หลังจากที่ ม.รังสิต ถูกน้ำท่วมในปี 2554 แต่ความจริงเรามีแผนอยู่แล้วว่าจะมีสถานีโทรทัศน์ เพราะเป็นช่วงบูมของทีวีดาวเทียม ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เสนอว่า มหาวิทยาลัยควรมีกระบวนทัศน์ใหม่ดึงสื่อที่กำลังบูม มาเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัย จึงมีการประชุมร่วมกัน และตกลงตั้งสถานีโทรทัศน์ ชื่อ อาร์เอสยู วิสดอม ทีวีตอนนั้นยังไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นผู้อำนวยการสถานี แต่รู้สึกว่าจะต้องมี เพื่อดึงองคาพยพในมหาวิทยาลัยมาเผยแพร่ไปสู่สังคม เลยมาจบที่เรา

ท่านอธิการบดีเคยทำงานการเมือง เคยร่วมบริหารประเทศ ท่านจึงคิดว่า รายการต้องมีสาระความรู้ที่ต่อยอดได้ ไม่ใช่รายการข่าวที่นำเสนอไปอยู่ในกระแส พอนำเสนอออกไปแล้วจบตรงนั้น แต่รายการเราอยู่ในมหาวิทยาลัย ขณะที่งบประมาณก็ไม่เยอะ สถานีไม่มีวัตถุประสงค์ในการหาโฆษณา ทั้งนี้ผมทำงานหนัก เพราะ ม.รังสิต มี 30-40 คณะ 100 กว่าหลักสูตร ผมต้องนำองค์ความรู้ทั้งหมดมานั่งคิดว่า ทำอย่างไรที่จะนำองค์ความรู้นี้ไปเป็นประโยชน์กับสังคม โดยที่เอาสภาพแวดล้อมสังคมเป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นงานยาก เพราะผมต้องรู้จักคณบดีทั้งหมด และต้องรู้ว่าหลักสูตรไหนเคลื่อนไหวอย่างไร มีกิจกรรมอะไร และทำอย่างไรที่จะให้เขามาอยู่ในรายการของสถานี เพื่อที่เขาจะได้นำไปเผยแพร่ต่อ

ดร.วีระยุทธ เล่าถึงประสบการณ์ว่า ในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ทิศทางการทำงานของสถานีชัดเจนมากขึ้น เอาเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นตัวตั้ง แล้วจะเชิญอาจารย์คณะต่างๆ มาออกรายการ เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ ประชามติ คนไร้สัญชาติ ซึ่งอาจารย์แต่ละคณะยินดีมากที่จะเข้ามาช่วย และเป็นภารกิจหนึ่งของบุคลากรใน ม.รังสิต โดยที่ ดร.อาทิตย์ มีส่วนผลักดันให้อาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้มากขึ้น นอกจากนี้เรามีทีมงานที่ออกไปพร้อมกับอาจารย์และนักศึกษาตามต่างจังหวัดด้วย

ทำงานด้านวิชาการ แล้วไปทำงานด้านการข่าวว่ายากแล้ว พอทำงานด้านการข่าวแล้วกลับมาทำงานด้านวิชาการ ยากยิ่งกว่า เพราะทำข่าวต้องคล่องมากแต่ทำวิชาการผมต้องนิ่ง กลับมามองอะไรที่ช้าลงบ้าง ชีวิตผมจะหาความท้าทาย วันหนึ่งก็อยากเป็นนั่นเป็นนี่ พออะไรที่คิดว่าจุดหนึ่งไม่ท้าทายแล้วผมก็จะเปลี่ยน แต่ทุกวันนี้ก็ลงตัวแล้ว อยากทำสถานีโทรทัศน์ให้ดี” (หัวเราะ)

นอกจากนี้ ดร.วีระยุทธ ยังเล่าด้วยว่า จากการทำงานใกล้ชิด ดร.อาทิตย์ มองว่าท่านเป็นคนรอบคอบ มีประสบการณ์เยอะ มีความนิ่งในการแก้ไขสถานการณ์ ทำให้ซึมซับความเป็นคนนิ่ง รอบคอบมาก โดยเฉพาะเรื่องเอกสาร ซึ่งตนทำเอกสารให้ท่านจะสะกดผิดก็ไม่ได้ ตัดคำผิดก็ไม่ได้ สื่อสารย่อหน้าผิดก็ไม่ได้ การเรียงลำดับความ โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย คือทุกอย่างต้องเรียนรู้จากท่าน

ผมได้รู้จักท่าน ท่านเปลี่ยนชีวิตผม ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่ดีมาก ท่านให้ทั้งโอกาส ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ อธิบายยาก เพราะท่านมีความเมตตากับผมเยอะ... เมื่อปี 2535 ผมจำภาพได้เลยว่า กำลังเรียนอยู่ ม.ขอนแก่น มีข่าวว่าดอกเตอร์อาทิตย์เสนอชื่อคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้งแล้วผมก็นึกย้อนกลับไปว่า วันนี้ผมได้มาทำงานใกล้ชิดท่าน ผมยังเล่าให้ท่านฟังเลยทั้งที่เมื่อปี 35 ผมยังเด็กมาก รู้สึกว่าโชคชะตาแปลกดี

สำหรับคติประจำใจ ดร.วีระยุทธ บอกว่า ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน ถึงแม้ว่าจะไม่พอใจลูกน้อง แต่ถ้าใครมาถาม ก็ไม่ฆ่าน้อง แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำงานกับตนแล้วก็ตาม ตนก็จะไม่ให้ร้ายลับหลัง ตนเป็นคนเพื่อนเยอะ เพื่อนจะรักทุกคน เพราะไม่ให้ร้ายเพื่อน ทั้งที่เรื่องบางเรื่องเรารู้ มันเป็นเรื่องจริยธรรมส่วนตัว คิดว่าทุกคนมีโอกาสปรับปรุงตัวเอง แก้ไขบางอย่างในชีวิต และจะมองในมุมที่ดีของเขา บางครั้งก็อยู่ที่ธรรมชาติและวัยของคน บางอย่างที่เขาจะคิดได้หรือปรับปรุงตัว เวลาทำงานตนก็จะมีหลักในการทำงาน

หากน้องๆ เสนองานผม ก็จะให้เช็กปัจจัย 3 ตัว คือ คุณค่า-คุณภาพ-คุณธรรม ถ้ามาเสนอรายการผม มีไอเดียใหม่ๆ ให้เช็ก 3 ปัจจัยนี้ ถ้าครบ ผมก็จะรับพิจารณา บางครั้งการทำงานโทรทัศน์ คุณค่าดี คุณภาพดี แต่คุณธรรมไม่ได้ ไปฆ่าเขา ไปให้ร้ายคนอื่น เพื่อหวังเรทติ้งโดยมีภาพไม่เหมาะสม ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไร ถ้า 3 ข้อไม่ครบ อย่าเพิ่งมาถึงผม...

จริงอยู่, โอกาสของคนเรามักมีเข้ามาเสมอ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ คนที่ให้โอกาสและให้จุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะจะทำให้เราจดจำไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่.